AI NEWSLETTER Vol.60
OCT, 2024
รับมืออย่างไรกับการก้าวเข้าสู่วัยเกษียณ
เวลาพูดถึง “อาชีพการงาน” เรามักคิดถึงความก้าวหน้าที่เหมือนกับการก้าวขึ้นบันได ทว่า เมื่อได้เดินขึ้นบันไดไปแล้ว สักวันหนึ่ง ก็จะถึงวันที่ต้องเดินลงด้วยเช่นกัน เนื้อหาที่จะพูดถึงต่อไปนี้คือ การเดินไปสู่บันไดขั้นสุดท้ายของการทำงาน นั่นคือการเตรียมตัวสู่การเกษียณนั่นเอง
ในญี่ปุ่น พนักงานบริษัทเอกชนส่วนมากเกษียณงานที่อายุ 65 ปี ส่วนในไทย 55 ปี พอพูดถึงการเกษียณ อาจทำให้หลายคนรู้สึกหดหู่ ตรงข้ามกับเวลาที่พูดถึงการเลื่อนตำแหน่ง แต่มันก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ หลายคนอาจจะคิดว่ายังเหลือเวลาอีกนานกว่าจะถึงวันนั้น แต่พอรู้ตัวอีกที ตนก็ใกล้เกษียณเสียแล้ว
การรับมือกับ “การเลิกทำงาน” ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เลยล่ะครับ
เท่าที่ได้ยินมาจากหลายบริษัท พอใกล้เกษียณ หลายคนเริ่มกลายเป็นคนหัวดื้อ อารมณ์ฉุนเฉียว ทำให้การทำงานในทีมไม่ราบรื่นและส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน
ในขณะที่คนรอบตัวเริ่มคิดว่า “อยากให้เริ่มส่งงานให้คนที่จะมารับช่วงต่อได้แล้ว” คนที่ใกล้เกษียณหลายคนกลับเริ่มรู้สึกเคว้งคว้างและกังวลว่า “ยังอยากทำงานต่อ” หรือ “ถ้าไม่ได้ทำงานที่เคยทำมาตลอด แล้วหลังจากนี้จะทำอะไร”
ความหลากหลายทาง "วัย"
ที่ญี่ปุ่นให้คำจำกัดความผู้สูงอายุที่สร้างความเดือดร้อนให้คนรอบตัวว่า “ภัยผู้สูงวัย” ซึ่งไม่ใช่คำที่ดีเท่าไร เพราะถูกกำหนดขึ้นโดยคนต่างวัยที่มองต่างมุม ในขณะที่จริง ๆ แล้ว คนที่สร้างคำเหล่านี้ขึ้นมาอาจจะแก่ตัวไปเป็นคนแบบนั้นก็ได้
ปัจจุบัน ผู้คนกำลังให้ความสำคัญกับความหลากหลายในสังคม เช่น เชื้อชาติ เพศสภาพ LGBTQ+ แต่ความจริงแล้ว “วัย” ก็เป็นความหลาหลายประเภทหนึ่งเช่นกัน การแบ่งแยกคนที่มีค่านิยมต่างกันให้อยู่คนละฝั่งไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไร ถ้าเราไม่ลองพยายามทำความเข้าใจความรู้สึกของอีกฝ่าย ก็ไม่สามารถสร้างระบบที่ดีในองค์กรได้
“เราจะเหลืออะไรไว้ให้คนรุ่นหลัง”: สิ่งที่เราควรครุ่นคิดในช่วงครึ่งหลังของวัยทำงาน
ผมขออ้างอิงทฤษฎีการพัฒนาจิตสังคม (Theory of Psychosocial Development โดย Erik Erikson) ซึ่งอธิบายการเติบโตในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต การคิดเรื่องความเป็นส่วนรวม (Generativity) หรือ “เราจะเหลืออะไรไว้ให้คนรุ่นหลัง” ในช่วงครึ่งหลังของวัยทำงานเป็นเรื่องสำคัญมาก
ถ้าเราไม่สามารถไปสู่ภาวะ “การคิดถึงความเป็นส่วนรวม” ได้ เราจะติดอยู่ในภาวะ “การคิดถึงหมกมุ่นแต่กับตนเอง” (Stagnation) จากการสังเกตในฐานะที่ปรึกษาให้กับหลายบริษัท ผมคิดว่าคนที่มีลูกน้องจะดูมีความสุขมากกว่าคนที่ไม่มี
สิ่งสำคัญคือ การลดความสำคัญของ “ตัวเอง” ในฐานะตัวละครหลัก และเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับ “คนอื่น” ด้วยความปรารถนาที่จะทำให้พวกเขา “เติบโต ก้าวหน้า” เมื่อคิดได้แบบนี้ ก็จะทำให้เรารู้สึกอิ่มเอมใจในช่วงครึ่งหลังของชีวิตการทำงาน
เมื่อมองผ่านมุมการเปลี่ยนถ่ายยุคสมัยในที่ทำงานและความก้าวหน้าในองค์กร การให้เจ้าหน้าที่ระดับผู้จัดการหรือผู้บริหารลงจากตำแหน่งเมื่ออายุถึงจุดหนึ่งเป็นเรื่องที่ดีต่อองค์กรมากกว่า แต่เราก็อยากให้เขารู้สึก “มีความสุขที่ได้สร้างประโยชน์ให้กับคนรุ่นใหม่” ด้วย ในฐานะผู้ให้คำปรึกษารุ่นน้องหรือช่วยซัพพอร์ตโปรเจ็กต์ต่าง ๆ
“การวางมือ”: คีย์เวิร์ดสำคัญที่สร้างการเปลี่ยนผ่าน
ในช่วง “บั้นปลายชีวิต” คำว่า “Ego integrity” จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ หมายถึงการย้อนกลับไปมองชีวิตที่ผ่านมาและหาความหมายให้กับมัน ถ้าหาไม่เจอ ก็จะทำให้คนผู้นั้นเข้าสู่ “ความสิ้นหวัง” (Despairs)
“การมองหาความหมายของชีวิต” สามารถทำได้ด้วยการมองย้อนกลับไปอย่างถี่ถ้วนและการทำสนทนากับคนรอบตัว
เมื่อจุดสิ้นสุดของชีวิตการทำงานมาถึง อาจทำให้รู้สึกเหงาและเคว้งคว้าง แต่ก็ไม่จำเป็นต้องรู้สึกอย่างนั้นเสมอไป เมื่อเราลองมองย้อนกลับไปดูชีวิตการทำงานที่ผ่านมา จะพบว่าเราได้เจอผู้คนมากมาย ได้เรียนรู้และเติบโต รวมไปถึงได้ทำประโยชน์ให้สังคมไม่มากก็น้อย การมองอดีตด้วยความภูมิใจคือการเตรียมตัวสู่ขั้นถัดไปครับ
สิ่งที่สำคัญอีกอย่างในการเข้าสู่ขั้นถัดไปคือ “การมีสังคมหลายกลุ่ม”
เรามีส่วนร่วมในหลายสังคม เช่น บริษัท ครอบครัว เพื่อน ชุมชนในท้องถิ่น และงานอดิเรก แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ชีวิตเพียงเพื่อ “อาชีพการงาน” จนทำให้มีแต่สังคมในที่ทำงานเป็นหลัก
เมื่อถึงเวลาที่ต้องเกษียณ พวกเขามักจะประสบปัญหาในการ “วางมือ” เพราะสำหรับพวกเขา “งาน = ตัวตน” พวกเขารู้ว่าต้องส่งต่อหน้าที่การงานให้กับรุ่นน้อง แต่กลับรู้สึกว่าหากทำเช่นนั้น จะทำให้ตัวเองว่างเปล่า เลยทำให้การวางมือเป็นเรื่องยาก
การมีส่วนร่วมในหลายชุมชนและสร้างความหมายให้แก่ชีวิตของเราอยู่เสมอเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การใช้ทักษะที่มีไปทำงานอาสาสมัครเพื่อช่วยชุมชน การทำงานพิเศษ หรือการสนับสนุนคนรุ่นใหม่ก็เป็นแนวทางที่ดี อีกทั้งการหันกลับมามองครอบครัวของเราในฐานะชุมชนที่สำคัญที่สุดอีกครั้งก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้เราสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของชีวิตช่วงเวลาต่าง ๆ ได้อย่างยืดหยุ่นมากขึ้น
การสิ้นสุดก็เป็นการเริ่มต้นใหม่เช่นกัน
จุดสิ้นสุดของชีวิตการทำงานก็เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของชีวิตเช่นเดียวกัน ในยุคที่อายุขัยเฉลี่ยกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ หากเราดูแลสุขภาพดี ๆ อาจมีอายุถึง 80 หรือ 100 ปีเลยก็ได้ ดังนั้น การเตรียมใจล่วงหน้าก่อนเกษียณจะไม่เสียเวลาเปล่าแน่นอน
นอกจากนี้ คนที่อายุยังน้อยก็ไม่ควรคิดว่า “ยังอีกนาน” แต่ควรตระหนักถึงวิธีคิดหรือความคิดของคนรุ่นก่อนด้วย ทักษะที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้นำในองค์กรยุคนี้คือ การบริหารจัดการความหลากหลายในสังคมและการจัดการปัญหาช่องว่างระหว่างวัย เพราะเราอยู่ในยุคที่ทุกประเทศในเอเชียกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ
ผมเองก็อยู่ในวัย 40 ซึ่งอาจจะถือว่าค่อนข้างเร็วสำหรับการคิดเรื่องเกษียณ แต่ผมก็พยายามจินตนาการถึงตัวเองในอนาคต ในขณะเดียวกัน บางครั้งก็ลองคิดมุมกลับว่า ถ้าเรายังหนุ่มอยู่ เราจะมองอย่างไรเพื่อให้ไม่มีอคติ ผมคิดว่าการไม่ยึดติดกับมุมมองเดียวเป็นสิ่งสำคัญในการสื่อสารกับผู้คนที่มีความหลากหลายในสังคมครับ
*ฉบับภาษาญี่ปุ่นอยู่ตรงนี้ครับ อย่าลืมแชร์ให้เพื่อนร่วมงานชาวญี่ปุ่นอ่านด้วยนะครับ!
https://asian-identity.com/hr-egg-jp/newsletter/oct-2024
*ข้อมูลเกี่ยวกับคอร์สพัฒนาบุคลากรระดับผู้จัดการชาวไทยและญี่ปุ่นเชิญอ่านที่นี่
https://asian-identity.com/hr-egg-th/event
Credit:
Photo by EpicStockMedia
Photo by alexlmx
Photo by Yusuke Ide from gettyimages
Photo by AndreyPopov from gettyimages
FREE DEMO: “IDENTITY LEADERSHIP JOURNEY”
-
เวิร์คช็อปเพื่อการค้นหาอัตลักษณ์และสร้างวิสัยทัศน์ของคุณในฐานะผู้นำ